ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกาอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาคนสุดท้าย เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษา (กปช.) และตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา (กษมา จาติกวณิช) เกิดวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เป็นบุตรีเพียงคนเดียวของ ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชและอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กับ ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีไทย เป็นหลานปู่ของ พลโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ชื่อ "กษมา" หมายถึง ความอดทน อดกลั้น เป็นชื่อที่คุณปู่ตั้งให้ เพื่อให้หลานสาวมีชื่อคล้ายๆ กับบุตรชายของท่าน คือ กษม กษาน และเกษม
นางสาวกษมา จาติกวณิช สมรสกับรองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ชาญวุฒิ วรวรรณ โอรสในหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ และหม่อมจิตรา วรวรรณ ณ อยุธยา (พี่สาวของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี) มีบุตรด้วยกันคือ หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวงการการศึกษาของไทยคนหนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงศึกษาธิการหลายตำแหน่ง อาทิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษา อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมวิชาการ ฯลฯ
ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยลาออกแบบไม่ขอเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขึ้นมาแทน ทั้งนี้คุณหญิงกษมา เกิดวันที่ 26 ตุลาคม 2492 และจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีนี้ แต่เพราะเกิดหลัง 30 กันยายน จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2553 ซึ่งคุณหญิงกษมา ได้รับพระราชทานพระนิพนธ์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสครบ 5 รอบ มีความตอนหนึ่งว่า "คุณหญิงกษมา วรวรรณ เป็นนักการศึกษาที่มีความรู้สูง มีประสบการณ์ยาวนาน มีวิสัยทัศน์กว้างไกลการบริหารการศึกษา"
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ